Thursday, August 4, 2016

ประชุมวิชาการ ณ เมืองบิโตเรีย-แกสไตซ์ (Vitoria-Gasteiz) แคว้นบาสค์ (Basque) ประเทศสเปน (18-22 July 2011) (ตอนที่ 1)

ทริปนี้จำได้ว่าเป็นทริปแรกเลยที่มีโอกาสเดินทางไกลข้ามทวีปไปฝั่งยุโรปอารมณ์แบบว่าตื่นเต้นพอสมควรเพราะครั้งนี้ผมจะต้องไปนำเสนองานวิจัยแบบปากเปล่า (Oral presentation) งานประชุมวิชาการ 6th Congress of the EuropeanMalacological Societies (CEMS) ที่จัดขึ้นที่เมือง Vitoria-Gasteiz ในแคว้นบาสค์ ประเทศสเปน ระหว่างวันที่ 18-22 กรกฎาคม พ.. 2554 ก่อนเดินทางก็หาข้อมูลเกี่ยวกับเมืองนี้พอสมควรและได้ยินว่าแคว้นนี้มีปัญหากับสเปนอยู่เนืองๆ เพราะต้องการแยกเป็นประเทศอิสระเพื่อปกครองตนเองเช่นเดียวกับอีกสองแคว้นของสเปนคือแคว้นกาตาลันและแคว้นอันดาลูเซีย ใจหนึ่งก็กลัวเรื่องความปลอดภัยพอสมควร ไม่ได้บอกทางบ้านด้วยซ้ำเพราะกลัวเค้าจะเป็นห่วง แต่ก็ภาวนาในใจว่าคงไม่มีอะไรหรอก และพอเดินทางไปถึงจริงๆ ก็ไม่มีอะไรจริงๆ ปลอดภัยไร้กังวล

ผมจำได้ว่าออกเดินทางไปสเปนเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.. 2554 ด้วยสายการบิน Qatar Airways เที่ยวบินที่ QR 615 K เวลาตีสองยี่สิบห้านาที เครื่องไปถึงกรุงโดฮาเวลาตี 5 เพื่อแวะพักเครื่อง 2 ชั่วโมง และเครื่องบินอีกทีตอน 7 โมงเช้าและเดินทางถึงสนามบิน Madrid-Barajas Airport เวลาบ่ายโมง 35 นาทีของวันรุ่งขึ้น (วันที่ 17 ... 2554)  กว่าจะรอรับกระเป๋าและซื้อซิมโทรศัพท์ที่สามารถต่ออินเตอร์เนทได้ก็ปาเข้าไปบ่ายสองครึ่ง จากนั้นก็ลากกระเป๋าไปต่อรถ Metro ไปยังสถานี Plaza de Castilla และเดินเท้าอีกนิดหนึ่งไปยังโรงแรม Hotel Weare Chamartín (จองไว้ก่อนวันเดินทางซึ่งเป็นโรงแรมระดับสี่ดาวราคาไม่แพงมากและที่สำคัญอยู่ติดกับสถานีรถไฟ Madrid Chamartín Railway Station ซึ่งเป็นสถานีที่จะต้องต่อรถไฟไปยังเมือง Vitoria-Gasteiz  (ที่มาดริดมีสถานีรถไฟหลักอยู่ 2 สถานี อีกสถานีหนึ่งชื่อว่า Madrid Atocha Railway Station)

สถานีรถไฟ Madrid Chamartín Railway Station หนึ่งในสองสถานีหลักในกรุงมาดริด 
สติกเกอร์เพื่อการรณรงค์ประหยัดน้ำมีให้เห็นทั่วไปในห้องน้ำตามโรงแรมต่างๆ ในกรุงมาดริด

พอเช็คอินที่โรงแรมเสร็จก็หาอะไรกินแถวๆ สถานนีรถไฟ และซื้อตั๋วรถไฟเที่ยวเช้าเวลาแปดโมงของวันที่ 18 .เพราะใช้เวลาเดินทางโดยรถไฟอีกประมาณ 5 ชั่วโมงไปยังเมือง Vitoria-Gasteiz จำราคาตั๋วรถไฟไม่ได้ว่าประมาณกี่ยูโรแต่คิดเป็นเงินไทยก็ประมาณพันเจ็ดร้อยบาทเศษๆ จากนั้นเลยกลับไปพักโรงแรมทันทีเพราะเหนื่อยกับการเดินทางพอสมควร ก่อนนอนก็ตั้งนาฬิกาปลุกปกติคือหกโมงเช้า ตื่นมาตอนเช้าอาบน้ำอาบท่าเรียบร้อยก็ลงไปทานอาหารเช้าที่โรงแรม เช็คเอ้าท์และรอเวลาขึ้นรถไฟ เหลือบมองนาฬิกาของเครื่อง Samsung Galaxy เห็นว่ามีเวลาเหลือเฟือเลยเดินเล่นดูโน่นนี่ฆ่าเวลาซะหน่อย แล้วเดินจะไปขึ้นรถไฟ ปรากฎว่ารถไฟขบวนที่จะนั่งไปมันออกไปได้อีกชั่วโมงแล้ว ด้วยความตกใจว่าทำไมรถไฟออกก่อนเวลารีบเดินทางถามเจ้าหน้าที่ขายตั๋ว เจ้าหน้าที่ก็พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ และไล่ผมให้ไปที่ Information Center ไปถึงก็ไปโวยวายกับเจ้าหน้าที่ใหญ่ว่าทำไมรถไฟออกก่อนเวลาฉันซื้อตั๋วเที่ยวนี้แต่นี่ยังไม่ถึงเวลาออกเลย เจ้าหน้าที่ทำหน้างงๆ แล้วชี้ไปที่นาฬิกาที่สถานีบอกว่านี่มันจะเกือบเก้าโมงแล้วคุณ คุณมาสายไปเกือบชั่วโมง ถึงพออ้อเลยครับ เวรกรรมตอนนี้มันหน้าร้อนที่ยุโรปเค้าปรับเวลาให้เร็วขึ้นอีก 1 ชั่วโมงหรือเปล่า เวรกรรม สมองตื้อไปหมด ทำไงดีไม่มีทางเลือกขอเค้าซื้อตั๋วใหม่ทันทีเมื่อให้ทันรถไฟเที่ยวถัดไปเพราะขอเปลี่ยนตั๋วก็ไม่ได้ ระหว่างรอขึ้นรถเที่ยวถัดไปก็ไปเจอกันอาจารย์สาวชาวอเมริกันท่านหนึ่งจากรัฐแคลิฟอเนียที่พลาดรถไฟเพื่อไปประชุมยังเมือง Toledo ของสเปนเช่นกันเหตุเพราะเครื่องโทรศัพท์มือถือ iPhone ไม่ได้ปรับเวลาให้อัตโนมัติ เลยดูเวลาผิดไป 1 ชั่วโมง เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าอย่าเชื่อเครื่องมืออิเล็กทรอนิคส์ให้เหลือบดูนาฬิกาซะหน่อยเพราะปกติสถานีขนส่งสาธารณะทุกที่จะมีนาฬิกาบอกเวลาเสมอๆ
ออกเดินทางจากมาดริดประมาณสิบโมงกว่าๆ ของวันที่ 17 ก.ค. พ.ศ. 2554 เห็นจะได้ ด้วยรถไฟ Renfe Trains ซึ่งเป็นบริษัทรถไฟที่วิ่งระหว่างเมืองหลักๆ ของสเปน รถไฟที่ค่อนข้างใหม่ สะอาด และสะดวกสบาย มีปลั๊กไฟให้บริการข้างที่นั่งผู้โดยสารทุกจุด รถไฟเดินทางผ่านเมืองต่างๆ มากมาย ภูมิประเทศที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบสูงแล้งแห้งมีไม้พุ่มเตี้ยขึ้นสลับกับพื้นที่เพาะปลูกและสวนมะกอกแซมเป็นระยะๆ ของมาดริดก็ค่อนเปลี่ยนไปเป็นพื้นสีเขียวชอุ่มและอากาศค่อนข้างเย็นสบาย ชุ่มชื้น (เดือนกรกฎาคมของที่นี่เป็นช่วงฤดูร้อน) โชคดีหน่อยที่มีผู้ร่วมเดินทางคนหนึ่งเป็นคุณลุงท่าทางใจดี แต่งตัวและพูดจาดีเดินทางมากับภรรยา พูดภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่วมากเข้าใจว่าแกน่าจะเป็นชาวอังกฤษที่เกษีรณอายุและย้ายมาอาศัยอยู่ที่ประเทศสเปน ผมชวนแกคุยโน่นคุยนี่ไปเรื่อย แกและครอบครัวลงรถไฟที่สถานีก่อนถึงเมือง Vitoria-Gasteiz



ภูมิประเทศของสเปนระหว่างเดินทางจากมาดริดไปยังเมือง Vitoria-Gasteiz (ถ่ายเมื่อ 17 ก.ค. พ.ศ. 2554)



รถไฟเดินทางถึงเมือง Vitoria-Gasteiz เมื่อเวลาประมาณบ่ายสามโมง พอลงจากรถไฟก็พยายามจะหาทางไปยังที่พักซึ่งเป็นหอพักในมหาวิทยาลัย

The Residencia Tomás Alfaro เป็นห้องเดี่ยวมีห้องน้ำและห้องครัวในตัว ราคาคืนละ 35 ยูโร ยืนมองแผนที่อยู่นานทีเดียวเพื่อเดินทางไปยังที่พัก ดูจากแผนที่ก็เหมือนจะง่ายแต่เดินจริงๆ ก็หลงเหมือนกันนะ เลยคิดว่าควรจะถามใครสักแถวนั้นที่มีอายุไม่มากเพราะคิดว่าน่าจะพูดภาษาอังกฤษได้บ้าง ปรากฎไม่มีใครให้ถามสักคน สุดท้ายเลยตัดสินใจเข้าไปถามยายแก่ๆ คนหนึ่งและยื่นแผนที่ให้ดูเผื่อว่าถ้าแกพูดไม่ได้ก็น่าจะชี้ทางไปที่พักได้ เปล่าเลยพออ้าปากพูดภาษาอังกฤษเท่านั้นแหละแกถึงกับวิ่งหนีและพูด No No!! พอเข้าไปถามอีกคนที่มีอายุน้อยหน่อยก็เดินหนีเช่นกัน ด้วยความพยายามครั้งสุดท้ายได้เจอกลุ่มเด็กวัยรุ่นหนุ่ม 3 นายพอพูดภาษาอังกฤษได้บ้างแต่ไม่ก็ยังสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง สุดท้ายเลยเดินพาผมมาส่งยังที่พักซะงั้น

หลังจากเข้าที่พักเรียบร้อยก็เดินสำรวจเมืองเล็กน้อยเพื่อหาตึกที่จัดการประชุมที่อยู่ไม่ไกลมากนักจากที่พัก และหาอะไรทานระหว่างทาง เข้าไปสำรวจห้างที่นี่เล็กน้อย ห้างสรรพสินค้าที่นี่มีสินค้าที่หลากหลายพอสมควร อาหารสดจะมีหลากหลายให้เลือก เวลาจ่ายตังค์ถ้าสังเกตุว่าทุกคนต้องซื้อถุงพลาสติกที่แคชเชียร์ด้วยไม่ได้ให้ฟรีเหมือนห้างในเมืองไทย แต่งงว่าไม่ยักกะมีคนนำถุงผ้ามาจ่ายตลาดด้วยจะได้ไม่ต้องเสียตังค์ค่าถุงพลาสติก สำรวจที่ทางได้สักพัก ถ่ายรูปนิดหน่อยก็เดินกลับที่พักพร้อมๆ กับห่อเชอรี่ราคาแสนถูก เพราะหน้าร้อนที่นี่เป็นหน้าเชอรี่ ราคาเลยถูกมากแพ็คละประมาณหนึ่งกิโลราคาแค่ 1 ยูโรกว่าๆ วันนั้นเลยกินเชอรี่สมใจอยาก ก่อนอาบน้ำอาบท่าแล้วเข้านอนตอนประมาณสี่ทุ่ม นอนลำบากมากมากเพราะช่วงหน้าร้อนเวลาสี่ทุ่มของที่นี่ยังสว่างอยูเลย กว่าจะหลับก็ปาเข้าไปเที่ยงคืนแล้วตื่นอีกทีก็หกโมงเช้า


บรรดาผู้สูงอายุที่นี่ชอบเล่นเปตอง จากภาพถ่ายเมื่อเวลาประมาณบ่ายสี่โมงในส่วนสาธารณะแห่งหนึ่งใกล้กับที่พัก

รถรางไฟฟ้า Funicular ที่วิ่งให้บริการภายในเมือง Vitoria-Gasteiz
ถนนหนทาง อาคารบ้านเรือน และพื้นที่โดยทั่วไปค่อนข้างเป็นระเบียบและสะอาดสะอ้าน

บรรยากาศงานประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี ต้องขอขอบคุณ ดร. เบนจามิน โกเมซ-โมลิเนอร์ (Dr. Benjamín Gómez-Molinerและคณะผู้จัดงานจากมหาวิทยาลัยบาสค์ (The University of the Basque Country: UPV/EHU) แม้ว่าจะไม่ใช่งานประชุมที่ใหญ่มากนักคือมีผู้ร่วมประชุมประมาณ 200 กว่าคน แต่การจัดงานก็ได้รับคำชมมากมายจากผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศในยุโรป การประชุมนี้เป็นการประชุมทุกๆ สองปี การประชุมครั้งต่อไปมีกำหนดการจะจัดขึ้นในปี พ.ศ. 2556 ที่หมู่เกาะ Azores หมู่เกาะในทะเลแอตแลนติกเหนือซึ่งอยู่ในการปกครองของประเทศโปรตุเกส

การประชุมครั้งนี้ทำให้ผมได้เรียนรู้อะไรมากมายเกี่ยวกับงานเทคนิคงานวิจัยใหม่ๆ และได้รู้จักเพื่อนนักวิจัยด้านสังขะวิทยาจำนวนมาก ที่สำคัญได้พบกับนักวิจัยชาวตุรกีที่เคยเจอกันก่อนหน้านั้นที่งานประชุมวิชาการสังขะวิทยาที่จังหวัดภูเก็ตเมื่อ 1 ปีที่แล้วคือปี พ.ศ. 2553 อาจารย์ท่านนี้ชื่อมาเรียเป็นอาจารย์ที่สอนในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในเมืองอันตาเลีย (Antalya) ประเทศตุรกี ที่ประทับใจก็คือแกยังจำผมได้ดีเพราะผมช่วยบอกสถานที่ท่องเที่ยวที่เมืองไทยเมื่อ 1 ปีที่แล้ว แถมตอนท้ายแกบอกว่าถ้ามีโอกาสไปเที่ยวตุรกีอย่าลืมแวะไปทักทายแกได้มีมหาวิทยาลัย :)



วันเปิดการประชุมวันแรก วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2554



ดร. อัลดริดจ์ (Dr. David Aldridgeจากมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ประเทศอังกฤษหนึ่งใน Invited Speakers ที่มาบรรยายพิเศษในหัวข้อเกี่ยวกับการจัดการและควบคุมจำนวนประชากรของหอยสองฝาต่างถิ่นโดยใช้กระสุนชีวภาพ (biobullet) กรณีศึกษาประเทศอังกฤษ


ผมขึ้นนำเสนองานวิจัย (ในวันที่ 21 ก.ค. พ.ศ. 2554) เกี่ยวกับการควบคุมจำนวนประชากรของหอยเชอรี่ (Pomacea canaliculata) ในนาข้าวด้วยศัตรูธรรมชาติอย่างเช่นนกปากห่าง (Anastomus oscitans) ในเขตภาคกลางของประเทศไทย


ถ่ายรูปคู่กับอาจารย์ชาวตุรกี เราเคยเจอกันเมื่อปีที่แล้วที่งานประชุมวิชาการ World Congress of Malacology 2010 ระหว่างวันที่ 18-24 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ที่จังหวัดภูเก็ต

ประชุมวิชาการ ณ เมืองบิโตเรีย-แกสไตซ์ (ตอนที่ 2)

No comments:

Post a Comment